ธันวาคม 09, 2024, 08:52:41 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว:
 
หน้า: [1]
ผู้เขียน หัวข้อ: โครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเทศเนปาล  (อ่าน 7190 ครั้ง)
analyser
คิดดี พูดดี ทำดี
Administrator
องครักษ์
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5050



« เมื่อ: เมษายน 10, 2011, 11:14:35 PM »




โครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสมหามงคล 60 ปีราชาภิเษก และ 84 พรรษามหาราชา


ความเป็นมา
     เมื่อประมาณปี พ.ศ. 236 พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมา ณ ลุมพินี โดยคำแนะนำของพระอุปคุตเถระว่า สถานที่แห่งนี้คือที่ประสูติจากพระครรภ์มารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานสี่แห่งที่พระพุทธองค์ทรงรับสั่งกับพระอานนท์ก่อนจะปรินิพพานว่า ให้เป็นสถานที่แทนตัวพระพุทธองค์ภายหลังเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วสำหรับให้พุทธบริษัทมาสักการะและปลงธรรมสังเวช พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงให้สร้างเสาหินอโศกและพระสถูปไว้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังได้รับรู้และมาสักการะบูชาสังเวชนียสถานแห่งนี้ได้อย่างถูกต้อง

     แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ร้อยปี ลุมพินีก็ถูกปล่อยให้รกร้างมายาวนานเกือบยี่สิบศตวรรษ จนมีการขุดค้นพบเสาหินอโศก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2438 และเมื่อถึงสมัยกึ่งพุทธกาล ฯพณฯ อูถั่น ชาวพุทธพม่าซึ่งเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตอนนั้น ก็ได้พยายามผลักดันโครงการพัฒนาลุมพินีให้เป็นโครงการขององค์การสหประชาชาติเป็นผลสำเร็จ และได้ตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาลุมพินีขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2513 ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนา 13 ประเทศร่วมเป็นกรรมการ โดยมีการทำแผนแม่บทพัฒนาลุมพินีสถานให้เป็นพุทธอุทยานขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่นับหมื่นเอเคอร์ อย่างไรก็ตามกาลเวลาผ่านไปแล้วกว่า 40 ปี จนถึงทุกวันนี้การพัฒนาลุมพินีตามแผนแม่บทที่วางไว้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนัก



     อนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้มีชาวพุทธจากหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยพยายามจะขออนุญาตบูรณปฏิสังขรณ์ลุมพินีในบริเวณ " สวนอันศักดิ์สิทธิ์ " ( Sacred Garden ) ตามแผนแม่บทซึ่งเป็นที่ตั้งเสาหินอโศกและวิหารมายาเทวีมานานนับสิบ ๆ ปี แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตเพราะบริเวณสถานแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกโลก จนปัจจุบันสถานที่บริเวณดังกล่าวชำรุดทรุดโทรมลงมาก

     จนเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีโอกาสไปสักการะบูชาลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 ได้เห็นความทรุดโทรมของสังเวชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เช่น ทางเดินบริเวณรอบวิหารมายาเทวีเฉอะแฉะเป็นดินโคลนเวลาฝนตก ลานที่จะนั่งสวดมนต์หรือนั่งเจริญภาวนาก็ไม่มี รวมถึงไม่มีห้องสุขาในบริเวณนั้นด้วยซึ่งจะเป็นปัญหามากสำหรับผู้สูงอายุที่เดินทางมาสักการะบูชา เป็นต้น จึงตั้งจิตอธิษฐานขอทำหน้าที่เป็น "สะพานบุญ" ชักชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาร่วมบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติจากพระครรภ์มารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และได้ทำเรื่องขออนุญาตบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณ "สวนอันศักดิ์สิทธิ์" ของลุมพินี ในนามประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย โดยได้รับการอนุเคราะห์ช่วยติดต่อประสานงานเป็นอย่างดียิ่งจากท่าน เจ้าคุณราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทโธ) ท่านเอกอัคราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ และ ท่านพระมหาสุพจน์ กิตฺติวณฺโณ ซึ่งหากปราศจากการช่วยเหลือจากทั้ง 3 ท่านการดำเนินการขออนุญาตคงไม่สำเร็จลุล่วงได้

ซึ่งในที่สุดก็ได้รับการตอบอนุญาตจากกองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust หรือ LDT) ให้สามารถดำเนินการบูรณะปรับปรุงบริเวณ "สวนอันศักดิ์สิทธิ์" และได้รับอนุมัติแบบจากคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 (11/01/2011)

ถือเป็นโชคดีของชาวไทยเพราะการบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่การดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกโดย พระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อประมาณ 2,300 ปีก่อน และการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 2 โดยท่านอู่ถั่น ในนามขององค์กรสหประชาชาติเมื่อ 40 ปีก่อน และในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 รอบ 2554 ปีที่เราชาวไทยจะได้มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติจาก LUMBINI DEVELOPMENT TRUST และคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อร่วมถวายเป็นพุทธบูชาในวโรกาสที่พระพุทธศาสนาจะมีอายุครบ 2,600 ปี ในพ.ศ. 2555 ตลอดจนเพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องวโรกาสมหามงคล 60 ปี ราชาภิเษก และ 84 พรรษามหาราชา

การออกแบบบูรณปฏิสังขรณ์มี อาจารย์วันชัย รวยอารีย์ เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบ อาจารย์อนุสรณ์ ภักดิ์สุขเจริญและผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาคภาควิชาการวางแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ โดยมีMR. BASANTA Senior Archaeology Officer ของ Lumbini Development Trust เป็นผ้ร่วมออกแบบ

ทางมูลนิธิจึงได้กราบเรียนเชิญท่านเจ้าคุณราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทโธ) เป็นที่ปรึกษาโครงการและผู้ควบคุมกำกับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยหลังสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้เดินทางไปประเทศเนปาลเพื่อ ลงนามในบันทึกความเข้าใจในการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติร่วมกับท่านลามะACHARYA KARMA SANGBO SHERPA ตำแหน่ง VICE-CHAIRPERSON ของ LUMBINI DEVELOPMENT TRUST ณ บริเวณหน้าวิหารมายาเทวี และได้วางศิลาฤกษ์ทางเดินรอบวิหารมายาเทวี โดยท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทโธ) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ท่าน ส.ส.สมพล เกยุราพันธุ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ตลอดจนได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงทางเดินเท้าบริเวณรอบวิหารมายาเทวีแล้ว

2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อบูรณะปรับปรุงสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ตามกรอบการดำเนินงานที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาลุมพินี ( Lumbini Development Trust )

2.2 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคล 60 ปีราชาภิเษก และ 84 พรรษามหาราชา

2.3 เพื่อเทิดพระเกียรติ และประกาศเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ให้ชาวพุทธทั่วโลกได้รับทราบ ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์อัครพุทธศาสนูปถัมภก

2.4 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศ ได้มีโอกาสร่วมสร้างบุญกุศลในการบูรณะปรับปรุงสังเวชนียสถานที่มีคุณค่าความสำคัญยิ่งต่อชาวพุทธทั่วโลก ตลอดจนช่วยเสริมสร้างสามัคคีธรรมในหมู่คนไทย ท่ามกลางวิกฤติปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมปัจจุบัน

3. รายละเอียดการบูรณปฎิสังขรณ์
3.1 สร้างทางเดินโดยรอบบริเวณวิหารมายาเทวี

3.2 สร้างลานปฏิบัติธรรม จำนวน 5 ลาน บริเวณหน้าเสาหินอโศก, ต้นมหาโพธิ์ และบริเวณใกล้เคียง

3.3 ขอพระราชทาน"กังหันชัยพัฒนา"มาติดตั้งเพื่อปรับปรุงสภาพน้ำ ณ สระอโนดาต สระน้ำ อันศักดิ์ที่สรงพระวรกายของสิทธัตถะราชกุมาร ภายหลังการประสูติจากพระครรภ์มารดา

3.4 สร้างอาคารเอนกประสงค์ และห้องน้ำสำหรับผู้สักการะ (กำลังรอการอนุมัติแบบจาก LDT.)

3.5 ปรับปรุงถนนทางเข้าสู่บริเวณ "สวนอันศักดิ์สิทธิ์" (Sacred Garden)

3.6 จัดสร้างสวนโดยรอบวิหารมายาเทวี และบริเวณสวนอันศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Garden) เพื่อให้สวยงามดุจดั่งเมื่อครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าประสูติ



4. แนวทางดำเนินการ
4.1 ทำเรื่องกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงทราบถึงความเป็นมาของโครงการ ที่คนไทยทั้งประเทศได้มี ส่วนร่วมทำถวายเป็นพระราชกุศลนี้ด้วยสามัคคีธรรม

4.2 ออกแบบแปลนการบูรณะปรับปรุงลุมพินีสถาน ซึ่งเป็นที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ณ ประเทศเนปาล ร่วมกับเจ้าหน้าที่โบราณคดีจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาลุมพินี ( Lumbini Development Trust )

4.3 ขออนุมัติแบบแปลนการบูรณะปรับปรุงจากคณะกรรมการ Lumbini Development Trust และจากคณะกรรมการมรดกโลก

4.4 เมื่ออนุมัติแบบแปลนแล้วคณะกรรมการ Lumbini Development Trust จะเป็นผู้จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง
โดยวัดไทยลุมพินีจะเป็นผู้อนุมัติการจ่ายเงินและเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ผู้รับเหมารวมทั้งจะเป็นผู้ควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้

4.5 ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ชักชวนให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศ ได้มีส่วนร่วมทำบุญในการบูรณะปรับปรุงสังเวชนียสถาน ที่มีคุณค่าความสำคัญยิ่งต่อชาวพุทธทั่วโลกนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยจะมุ่งเน้นที่จำนวนคน ซึ่งมีส่วนร่วมทำบุญคนละเล็กละน้อย ให้ได้ปริมาณคนที่มีส่วนร่วมมากที่สุดเพื่ออาศัยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งการเสริมสร้างสามัคคีธรรมในหมู่คนไทย

4.6 เมื่อการบูรณะปรับปรุงเสร็จตามเป้าหมายแล้ว จะจัดตั้งกองทุนถาวรเพื่อไว้ใช้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเช่น การดูแลสวน, ห้องน้ำ ฯลฯ รวมทั้งไว้ใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในอนาคต โดยจะมอบให้วัดไทยลุมพินีโดยท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษี เป็นผู้ดูแลกองทุนนี้ต่อไป

5. ระยะเวลาดำเนินการ
มีนาคม – ธันวาคม 2554

6. ช่องทางการบริจาคเงิน
1) โอนเงินผ่านธนาคาร ชื่อบัญชี "กองทุนลุมพินีสถาน"
1.1 "กองทุนลุมพินีสถาน" ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด บัญชีออมทรัพย์ สาขาลาดพร้าวซอย 10 เลขที่ 047-255916-4 หรือเช็คสั่งจ่ายในนาม กองทุนลุมพินีสถานโดยมูลนิธิไทยพึ่งไทย

1.2 " กองทุนลุมพินีสถาน " ธนาคารกสิกรไทย จำกัด บัญชีออมทรัพย์ สาขาประดิษฐ์มนูธรรม เลขที่613-2-10884-4 หรือเช็คสั่งจ่ายในนาม กองทุนลุมพินีสถานโดยมูลนิธิไทยพึ่งไทย

1.3 " กองทุนลุมพินีสถาน " ธนาคาร กรุงไทย จำกัด บัญชีออมทรัพย์ สาขาลาดปลาเค้า 41 เลขที่199-0-17327-6หรือเช็คสั่งจ่ายในนาม กองทุนลุมพินีสถานโดยมูลนิธิไทยพึ่งไทย

1.4 " กองทุนลุมพินีสถาน " ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร บัญชีออมทรัพย์ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (อาคาร B) เลขที่บัญชี199-2-03083-3 หรือเช็คสั่งจ่ายในนาม "กองทุนลุมพินีสถานโดยมูลนิธิไทยพึ่งไทย

2) SMS พิมพ์คำว่า LUM ส่งมาที่หมายเลข 4596999 (ครั้งละ 9 บาท)

3) ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ

7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
7.1 สังเวชนียสถานที่มีคุณค่าความสำคัญยิ่งต่อชาวพุทธทั่วโลก ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ได้รับการบูรณะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่มีส่วนร่วมการทำบุญอย่างกว้างขวาง

7.2 ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสร่วมทำบุญมหากุศลถวายเป็นพุทธบูชา และพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสปีมหามงคล

7.3 สังคมไทยมีบรรยากาศแห่งสามัคคีธรรมมากขึ้น จากกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมสร้างบุญกุศลในโครงการนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสปีมหามงคล

หมายเหตุ ติดต่อสำนักงานกองทุนได้ที่ โทร. 02-971-7575 (ในเวลาราชการ) โทรสาร 02-971-6777
www.lumbinidevelopment.org‏ หรือ www.sudarat.com

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 01, 2011, 10:49:28 PM โดย analyser » บันทึกการเข้า


raw02
JMC7
เสนาธิการ
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1873



« ตอบ #1 เมื่อ: เมษายน 10, 2011, 11:36:47 PM »

ขอบคุณมากค่ะ  ทำบุญกันจ้า เป็นสิริมงคลแก่ตัวด้วย เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปทำค่ะ
บันทึกการเข้า

giftheaven
พลทหาร
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2


อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: สิงหาคม 18, 2015, 04:03:18 PM »

เป็นโครงการที่ดีมากเลยนะครับ
บันทึกการเข้า

chokechai
พลทหาร
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2


อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 03, 2016, 05:05:30 PM »

โครงการนี้ผมอยากไปช่วยด้วยจัง
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.20 | SMF © 2006-2007, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF
Theme by askervani
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.183 วินาที กับ 19 คำสั่ง